ควรปล่อยให้ผู้ป่วยได้อยู่คนเดียวบ้าง
แน่นอนว่าการคอยอยู่เป็นเพื่อนผู้ป่วยซึมเศร้า และไม่ควรปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่ตามลำพังนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี
แต่ทว่าบางจังหวะของเวลา คุณก็ควรที่จะให้เขาได้อยู่กับตัวเองบ้างเพื่อมีสมาธิที่จะเข้าใจตัวของเขาเอง
สิ่งที่ผู้ดูแลหรือญาติพี่น้องข้างเคียงควรทำนั่นก็คือ การคอยให้คำชี้แนะเตือนสติและให้ความรู้ให้ปัญญากับเขาเป็นระยะๆ แต่ต้องเปิดเวลาให้เขาได้ใช้ปัญญาเหล่านั้นด้วยตนเอง
เฝ้าดูเขาในลักษณะที่ไม่ให้ถึงกับเป็นการลำพังแต่ก็มิใช่เป็นการรบกวนเขาจนเกินไป เฝ้าดูเขาห่างๆแต่อยู่ในระยะที่มองเห็นสามารถเข้าป้องปรามเหตุร้ายต่างๆได้ทันท่วงที
อาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า นั้นแตกต่างจากการซึมเศร้าธรรมดาทั่วไป การซึมเศร้าธรรมดาทั่วไป อาจใช้วิธีที่คนรอบข้างเข้ามารุมมาช่วยกันทำให้ผู้ซึมเศร้า ลืมความทุกข์เศร้าไปได้ ด้วยการพยายามช่วยกันทำให้เขาสนุกสนาน สร้างความครึกครื้นให้เขา นำความบันเทิงต่างๆมาให้เขาหรือชวนเขาไปเที่ยว เหล่านี้เป็นต้น
แต่ทว่าสำหรับคนที่เป็นถึงขั้นโรคซึมเศร้า นั้นจะมีรูปแบบของโครงสร้างที่ซับซ้อนและฝังลึกในปมของจิตใจ แม้ว่าผู้ป่วยจะถูกภาวะของความครึกครื้นรุมล้อม แต่จิตของเขาจะยังคงคิดอย่างไม่หยุดยั้ง และยิ่งถูกรบกวนยิ่งสับสน ยิ่งสับสนยิ่งเครียดและสมองยิ่งล้า เขาจะใช้งานประสาทสมองหนักมาก
ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้านั้นจะมีระดับขั้นต่างๆ หากอยู่ในระดับที่ซักซ้อมความคิดเรื่องทุกข์เศร้า วนเวียนย้ำคิด แบบนี้ไม่ควรปล่อยให้อยู่ลำพัง แต่สิ่งที่ต้องทำคือต้องรีบชี้แนะเขา บำบัดรักษาเขาด้วยกระบวนวิธีที่ถูกต้อง จากผู้รู้ผู้ที่มีความเข้าใจ
จงระลึกไว้เสมอว่า อาการทางจิตคือสิ่งที่มองด้วยตาเปล่าภายนอกไม่เห็น บางครั้งภาวะอาการมันหนักหนาจนเกินที่คนทั่วไปจะรักษาเขาได้ ต้องรีบพาเขาไปรับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นก่อนที่จะเป็นหนักไปกว่านั้น
แต่หากว่าผู้ป่วยอยู่ในภาวะที่มีใจอยากจะรักษาตัวเองให้หาย กำลังอยู่ในขั้นตอนทบทวน และพยายามคิดค้นหาคำตอบของสัจธรรมชีวิต คิดค้นเหตุผลทางออกที่ดีของปัญหา พยายามที่จะปลงพยายามที่จะมองหาทัศนคติที่ดีมาบำบัดความทุกข์ใจของตน ถ้าแบบนี้ ควรให้เวลาเขาไปมีเวลาส่วนตัวอยู่กับตัวเองบ้าง
เนื้อหาข้อเขียนในบทความเขียนโดย setmem